วัฒนธรรมอาหาร กับพิธีราชาภิเษกอังกฤษ
วัฒนธรรมอาหาร พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี แม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ อาหารมีส่วนในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์หรือราชินีองค์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟบนจานทองในงานเลี้ยงขนาดใหญ่ หรือบนโต๊ะอาหารในงานปาร์ตี้ริมถนน
ตัวอย่างของการใช้เงินที่มากเกินไปกับอาหาร คืองานเลี้ยงพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2364 นับว่าใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับเงินปัจจุบันมากกว่า 20 ล้านปอนด์ หรือราว 860 ล้านบาท
หนึ่งในเมนูที่มีการคิดค้นขึ้นในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2496 คือ “ไก่โคโรเนชัน” (Chicken Coronation) และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ บริเตน และสหราชอาณาจักร มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี
แม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ อาหารมีส่วนในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์หรือราชินีองค์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟบนจานทองในงานเลี้ยงขนาดใหญ่ หรือบนโต๊ะอาหารในงานปาร์ตี้ริมถนน อาหารพิธีราชาภิเษกมีเรื่องราวที่น่าสนใจในแบบฉบับของตัวเอง และสามารถสะท้อนถึงช่วงเวลาหรือค่านิยมของกษัตริย์หรือราชินีที่เพิ่งสวมมงกุฎ
ตัวอย่างของการใช้เงินที่มากเกินไปกับอาหาร คืองานเลี้ยงพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 4 ซึ่งเป็นที่รู้จักเรื่องการใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อและหนี้สินมากมาย โดยพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2364 นับว่าใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับเงินปัจจุบันมากกว่า 20 ล้านปอนด์ หรือราว 860 ล้านบาท
ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ของอาคารรัฐสภาเดิม กษัตริย์และแขกคนสำคัญที่สุด 300 คน จะร่วมรับประทานอาหารค่ำภายใต้สายตาของผู้ชมนับพันที่นั่งอยู่บนแท่นที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ยังมีแขกอีก 1,300 คนร่วมรับประทานอาหารในสถานที่อื่นๆ อาหารสไตล์ฝรั่งเศสถูกเสิร์ฟจากครัวชั่วคราวที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับอาหารปริมาณมหาศาล และโต๊ะของกษัตริย์เพียงโต๊ะเดียวก็มีอาหารมากกว่า 70 รายการใน 3 คอร์ส โดยรวมแล้วแขกได้รับประทานเนื้อวัว เนื้อลูกวัว และเนื้อแกะ 7.3 ตัน ไก่มากกว่า 1,600 ตัว และไข่ 8,400 ฟอง
แม้ว่างานเลี้ยงพิธีราชาภิเษกในอดีตจะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย แต่งานของกษัตริย์จอร์จที่ 4 ก็มีความสำคัญอย่างมาก
เนื่องจากเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการจัดขึ้นในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในอีก 10 ปีต่อมาก็ไม่ได้มีงานเลี้ยงใดๆ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 4
ในทางตรงกันข้าม การจัดงานเลี้ยงข้างถนนนับเป็นวิธีเก่าแก่ที่มีมาหลายร้อยปี สำหรับประชาชนที่จะร่วมเฉลิมฉลองพิธีราชาภิเษกด้วยอาหารและเครื่องดื่ม
เนื่องจากประเทศยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากความเข้มงวดหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และยังคงมีการปันส่วนอยู่บ้าง พิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2496 ทำให้ประชาชนมีโอกาสมารวมตัวกันและเฉลิมฉลอง งานปาร์ตี้ตามท้องถนนหลายพันงานจัดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ และมีการแจกจ่ายโบนัสปันส่วนน้ำตาล 1 ปอนด์และมาการีน 1 ใน 4 ปอนด์ในช่วงพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ผู้คนได้ทำอาหารสำหรับเฉลิมฉลอง โดยเมนูแซนด์วิชใส่เนย เนื้อกระป๋อง หรือปลา เป็นเมนูที่ได้รับความนิยม ส่วนเค้ก บิสกิต ไอศกรีม น้ำอัดลม และเยลลี่ล้วนได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษในรัฐสภาว่าเป็นที่ต้องการอย่างมาก
เมนู “ไก่โคโรเนชัน” (Chicken Coronation) ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการของตัวแทนจากต่างประเทศ 350 คนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อาหารจานนี้ทำจากไก่ตุ๋นในน้ำและไวน์ขาวเล็กน้อยกับซอสที่มีครีม มายองเนส ไวน์แดง และผงกะหรี่ ที่คิดค้นโดย “โรสแมรี ฮูม” (Rosemary Hume) และ “คอนสแตนซ์ สปรี” (Constance Spry) และนักเรียนที่โรงเรียนสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ลอนดอน
สปรีอธิบายสูตรอาหารว่า มีรสชาติที่ละเอียดอ่อนและเหมือนถั่ว และน่าจะเป็นอาหารหรูหราในเวลานั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายของส่วนผสมหลายอย่าง เมนูนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในทศวรรษที่ 1970 และ 80 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสูตรดั้งเดิมก็ได้รับการปรับปรุงใหม่หลายครั้งโดยเชฟผู้มีชื่อเสียง มันยังสามารถพบได้ทั่วสหราชอาณาจักร แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่จะมีการดัดแปลงเป็นไส้แซนด์วิชมากกว่าที่จะเป็นอาหารจานเดียวก็ตาม
นักประวัติศาสตร์ด้านอาหาร ดร. แอนนี่ เกรย์ ให้ความเห็นว่า “อาหารพิธีบรมราชาภิเษกสะท้อนถึงรสนิยมของเวลา โดยปรุงโดยพ่อครัวในยุคหนึ่ง ด้วยอุปกรณ์ในยุคหนึ่ง และสำหรับคนในยุคหนึ่งๆ” เธอกล่าวต่อว่า “ต้องไม่ลืมว่าผู้ร่วมงานเลี้ยงพิธีราชาภิเษก จนถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน น้อยคนนักนอกจากแขกที่ได้รับเชิญจะรู้ว่ามีอะไรอยู่ในเมนู พิธีราชาภิเษกนี้เปิดกว้างมากขึ้น และถือเป็นโอกาสที่แท้จริงสำหรับกษัตริย์องค์ใหม่ในการแสดงพระราชอำนาจและลักษณะพื้นฐานทางด้านสังคมที่มีร่วมกันของกลุ่มคนผ่านอาหาร”
คาดว่าจะมีการจัดงานเลี้ยงข้างถนนในช่วงพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และราชินีคามิลลาในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ โดยมีการวางแผนจัดงานเลี้ยงฉลองพิธีราชาภิเษกในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้แผนที่มีชื่อว่า The Big Lunch ขณะที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพิธีราชาภิเษกยังมีสูตรอาหารมากมายที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับการจัดงานเลี้ยงข้างถนน และงานเฉลิมฉลองอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเมนูอย่าง เนื้อแกะย่างโคโรเนชันของ “เคน ฮอม” เชฟชาวอเมริกันเชื้อสายจีนชื่อดัง พร้อมซอสหมักสไตล์เอเชีย หรือเมนู มะเขือม่วงโคโรเนชัน” (Coronation Aubergine) ของ “นาดิยา ฮุสเซน” เชฟ นักเขียน และผู้จัดรายการโทรทัศน์ชาวอังกฤษ รวมถึงเมนู “ทาโก้กุ้งกับซัลซ่าสับปะรด” ของ “เกรกก์ วอลเลซ” พิธีกรรายการมาสเตอร์เชฟ และ “สตรอว์เบอร์รีและขิง” ของอดัม แฮนด์ลิง และ “โคโรเนชัน คราวน์ สโคน” ของมาร์ธา คอลลิสัน
กษัตริย์ชาร์ลส์เคยตรัสอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการสนับสนุนอาหารออร์แกนิกของอังกฤษ และในอาหารที่ได้รับเลือกให้ขึ้นโต๊ะนั้น มีการผสมผสานแนวคิดดั้งเดิม เช่น ตัวเลือกมังสวิรัติที่ใช้แทนซอสไก่ในเมนูมะเขือม่วงของฮุสเซน และการผสมผสานระหว่างความเป็นอังกฤษและเอเชียของฮอม ซึ่งเป็นรสชาติที่บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลองวิวัฒนาการของอาหารอังกฤษ
ขณะที่สูตรคีชอย่างเป็นทางการสำหรับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ของมาร์ค ฟลานาแกน เชฟชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเชฟส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และหัวหน้าเชฟของราชวงศ์ ประกอบด้วยผักโขม ถั่วปากอ้า และทาร์รากอน ซึ่งน่าจะเป็นการให้ความสำคัญให้กับความมุ่งมั่นด้านการเกษตรแบบยั่งยืนของเขาและความชื่นชอบที่มีต่อไข่และชีส
เมื่อพูดถึงการได้รับเชิญให้ร่วมปรุงสูตรอาหารสำหรับการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ อดัม แฮนด์ลิ่ง เชฟและเจ้าของร้านอาหารกล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้คิดค้นสูตรอาหารสำหรับพิธีบรมราชาภิเษก มันเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของเรา และฉันหวังว่าผู้คนมากมายจะร่วมเฉลิมฉลองด้วยสูตรนี้”
สรุป
เคน ฮอม ซึ่งดำเนินรายการ Ken Hom’s Chinese Cookery ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี กล่าวถึงสิ่งที่สูตรอาหารของเขาสื่อถึงว่า “ผมรู้สึกและคิดว่าสูตรอาหารของผมสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมอาหารอังกฤษในอดีต ตอนนี้ส่วนผสมที่แปลกใหม่ เช่น ซอสถั่วเหลือง เป็นส่วนหนึ่งของห้องครัวในอังกฤษ ปัจจุบันวัฒนธรรมอาหารของอังกฤษได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก และอาหารอังกฤษก็ถือเป็นอาหารของโลกยุคใหม่”
ดร. แอนนี่ เกรย์ กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสูตรอาหารว่า “ฉันชื่นชมตัวเลือกของสูตรอาหารต่างๆ ที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของอาหารและชื่อเชฟที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งเมนูมังสวิรัติ หรือเมนูยอดนิยมอย่างขนมไทรเฟิลและเนื้อแกะซึ่งมักถูกใช้ในการเฉลิมฉลองเสมอมา เมนูอาหารยังมีการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ โลก และฤดูกาลต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาพสะท้อนที่ดีของจริยธรรมด้านอาหารที่ระบุไว้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3.
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/
https://have-a-look.net/2023/05/19/%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%b2/
|