อ้างอิงกระทู้ (Quote Tpoic ID) 59449 โพสแล้ว (By) หยาด :
อลเวงข้อสอบ ทางออกครูผู้ช่วย
ทางออกครูผู้ช่วย กลายเป็นประเด็นร้อนแรง เมื่อโลกโซเชียลแชร์ผลการสอบภาค ก และภาค ข ของผู้สอบแข่งขันเป็นครูผู้ช่วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 2 มีผู้เข้าสอบ 1,347 ราย แต่ “สอบผ่าน” เพียง 32 ราย
พบว่ากลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดนตรีสากล และเกษตร/เกษตรกรรม/เกษตรศาสตร์ “ไม่มี” ผู้สอบผ่านเลยแม้แต่คนเดียว…
นอกจากนี้ ยังวิจารณ์ “ข้อสอบ” ที่ออกโดย “มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุบลราชธานี” ว่าต้องการวัด “มาตรฐาน” ด้านใดของผู้ที่จะมาเป็นครู เพราะข้อสอบเน้นการท่องจำล้วนๆ ซึ่งวัดอะไรไม่ได้นอกจากความจำ และวัดไม่ตรงจุดประสงค์
ที่ฮือฮาก็น่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ 3 แชมป์ (ทริปเปิลแชมป์) เป็นสมัยที่เท่าไหร่ และถามถึงอันดับโลกของทีมวอลเลย์บอลหญิง ทั้งที่การแข่งขันรายการล่าสุดยังไม่จบ และอันดับยังเปลี่ยนแปลงได้อีก
เหล่านักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องมองว่าน่าจะเป็นเพราะ มรภ.อุบลราชธานี เป็น “มือใหม่” หัดออกข้อสอบ ไร้ประสบการณ์ ทำให้การตีความกรอบและหัวข้อในการออกข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) “ผิดเพี้ยน” ไป
ทางออกครูผู้ช่วย ขณะที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ออกข้อสอบรอบนี้มากถึง 11 คลัสเตอร์
มีประสบการณ์ในการออกข้อสอบครูผู้ช่วยมาหลายครั้ง ใช้วิธีเอาเนื้อหามาแต่งโจทย์ และให้ผู้เข้าสอบวิเคราะห์
จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ สพฐ. “ทบทวน” วิธีการใหม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำหน้าที่ออกข้อสอบแต่ละคลัสเตอร์ รวมทั้งประเทศ 18 คลัสเตอร์ มาตรฐานข้อสอบไม่เหมือนกัน เพื่อให้การ “สอบคัดเลือก” ครูผู้ช่วยเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ…
ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดี มรภ.อุบลราชธานี ได้ชี้แจงดราม่าข้อสอบ ระบุว่าที่สอบผ่านกันน้อยเพราะการสอบภาค ก มีผู้สมัคร 1 หมื่นกว่าคน สอบได้ 2 พันกว่าคน แต่เมื่อสอบภาค ข มีผู้สอบผ่าน 400 กว่าคน ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบภาค ก ใช้ได้ เมื่อดูตามวิชาเอกจะมีเฉพาะบางวิชาเอกที่สอบไม่ผ่าน เช่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี เป็นต้น ที่มีผู้สมัครน้อย เพียงวิชาเอกละ 2 คน และอีกวิชาเอกที่ไม่มีผู้สอบผ่านคือ พลศึกษา ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้เข้าสอบบางคนไปติวมาแต่ข้อสอบออกไม่ตรง เพราะเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.ให้ มรภ.อุบลราชธานีช่วยออกข้อสอบ แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปสรุปและรายงานเพื่อดูความยากง่ายของข้อสอบ และการตรวจสอบมีข้อผิดพลาดหรือไม่
ขณะที่ นายสวงค์ บุญปลูก รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มสด. ในฐานะกำกับดูแลศูนย์บริการทดสอบของ มสด.และรับผิดชอบในการออกข้อสอบครูผู้ช่วยในรอบนี้ถึง 11 คลัสเตอร์ กล่าวว่า การออกข้อสอบครูผู้ช่วยจะยึดตามกรอบหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.กำหนด แบ่งเป็นหัวข้อ โดยมหาวิทยาลัยที่รับหน้าที่ออกข้อสอบต้องนำหัวข้อที่ได้ไปขยายความเพื่อออกข้อสอบให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ โดย มสด.มองว่าหัวข้อที่กำหนดมาเป็นการกำหนดในภาพกว้าง จึงต้องออกข้อสอบให้เชื่อมโยงกับวิชาชีพครู ต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะเป็นการสอบแข่งขันคัดเลือกครูในปัจจุบันที่จะต้องไปสอนเด็กในอนาคต
ส่วนประเด็นดราม่าข้อสอบของบางมหาวิทยาลัยออกในลักษณะท่องจำ และมีคำถามเกี่ยวกับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นายสวงค์มองว่า อยู่ที่การตีความของมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบ เข้าใจว่าอาจตีความในหัวข้อสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวิชาชีพ อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยยังขาดประสบการณ์
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพรวมการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2566 ที่ผ่านมา มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ และ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ผู้มีสิทธิสอบภาค ก และภาค ข 169,595 คน เข้าสอบภาค ก และภาค ข รวม 167,862 คน
มีผู้สอบผ่านภาค ก และภาค ข เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ค รวม 42,952 คน หรือคิดเป็น 25.29% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด
สำหรับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สอบผ่านคือ “ภาษาเวียดนาม” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เลย หนองบัวลำภู และ “พระพุทธศาสนา” ของ สพม.ยะลา ส่วนกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ไม่มีผู้สมัครคือ “ภาษาอังกฤษ” ของ สพม.แม่ฮ่องสอน และ “อรรถบำบัด” ของ สศศ.
ไม่เฉพาะคลัสเตอร์ที่ มรภ.อุบลราชธานี ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่ได้มาตรฐานและมีผู้ผ่านการคัดเลือกน้อย แต่มีอีกหลายๆ คลัสเตอร์ ที่เจอะเจอปัญหาเดียวกันนี้
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สพฐ.ในการสอบครูผู้ช่วย ปี 2566 แบ่งการจัดสอบเป็นคลัสเตอร์ตามกลุ่มจังหวัด 18 คลัสเตอร์ พบว่าข้อสอบที่ออกโดย มสด.มีผู้ผ่านเกณฑ์ 32.25% ส่วน มศว ออกข้อสอบให้ สศศ.มีผู้สอบผ่านกว่า 40% มรภ.เชียงใหม่ ผ่าน 15% ขณะที่ มรภ.อุดรธานี ผ่านประมาณ 10%
แต่ที่สาหัสที่สุดเห็นจะเป็น มรภ.อุบลราชธานี ที่สอบผ่านไม่ถึง 5%
รวมถึงมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ที่มีผู้ผ่านน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดแคลนครู
ทั้งนี้ ผู้บริหาร สพฐ.มอบให้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.ไปขอข้อมูลจากทุกมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ และวางแผนแก้ไขปัญหา ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะขอใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ใกล้เคียงในแต่ละภาค หรือข้ามภาค จะพอกับตำแหน่งที่ว่างหรือไม่ แต่ถ้าไม่พอก็อาจจะต้องจัดสอบอีกรอบในคลัสเตอร์ที่จำเป็นและขาดแคลน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ถ้าดูจากผลการสอบครั้งนี้คิดว่าในปี 2567 จะจัดสอบอีกครั้ง เพราะผลการขึ้นบัญชีอาจไม่เพียงพอต่อการเรียกใช้บัญชีในปีหน้า จะพอเฉพาะเรียกใช้ปี 2566 อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการวิเคราะห์อีกครั้ง รวมถึงจะส่งข้อมูลให้ ก.ค.ศ.วิเคราะห์หลักเกณฑ์และวิธีการว่าสาเหตุที่ทำให้ครูสอบผ่านน้อยเกิดจากปัจจัย หรือสาเหตุใด เช่น ข้อสอบยากเกินไป หรือบางวิชาผู้เข้าสอบไม่มีความถนัด เป็นต้น เมื่อได้ผลวิเคราะห์แล้วจะเสนอข้อมูลให้ ก.ค.ศ.ใช้ปรับปรุง
พร้อมเสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ 1.บางคลัสเตอร์มีผู้สอบผ่าน 30-40% ดังนั้น อาจให้เรียกใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ที่มีผู้สอบผ่านเกินบัญชีก่อน และ 2.ถ้ายังไม่มีสาขาวิชาเอกที่เปิดรับจริงๆ ก็อาจต้องเปิดสอบใหม่
“บางมหาวิทยาลัยเพิ่งออกข้อสอบเป็นครั้งแรก จากนี้คงต้องนำข้อมูลจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาประมวลผล ทั้งความยากง่ายของข้อสอบ และสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สอบผ่าน เพื่อวิเคราะห์และหารือกับ ก.ค.ศ.เชื่อว่าการจัดสอบครั้งต่อไปจะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นอีก” นายอัมพรกล่าว
ส่วนสาเหตุที่ต้องออกข้อสอบ “ยาก” นายอัมพรมองว่า ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการ “สอบแข่งขัน” เพื่อ “คัดเลือก” คนเข้าไปเป็นครู การจัดสอบครั้งนี้เป็นการกระจายอำนาจ ดังนั้น จะกระจายอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ จัดสอบเหมือนเดิมเป็นทิศทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ แต่ถ้าจะปรับจริงๆ เคยมีข้อเสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบภาค ก และภาค ข แล้วนำผลการสอบไปยื่นกับเขตพื้นที่ที่เปิดรับเพื่อสอบภาค ค เช่นเดียวกับการสอบเข้ารับราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งหากทำได้จริงจะช่วยแก้ปัญหามาตรฐานข้อสอบ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้หมดไป
ขณะที่ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ได้หารือกับนายอัมพรแล้ว ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.เคยมีความเห็นว่าควรจัดสอบโดยมาตรฐานกลาง แต่ สพฐ.อยากกระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ และให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่ออกข้อสอบ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องรอให้ สพฐ.สรุปข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะปรับระบบการจัดสอบครั้งต่อไปอย่างไร
สรุป
ต้องรอดูบทสรุปว่าผู้เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหา และจะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสอบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ที่ใช้ในการคัดเลือกครู ขณะเดียวกันก็สามารถคัดกรองคนดี คนเก่ง และมีจิตวิญญาณความเป็นครู เข้าไปทำหน้าที่แม่พิมพ์ที่ดี…
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/
https://have-a-look.net/2023/07/09/%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a2-%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%82/